จ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำดีไหม
บัตรเครดิตหรือบัตรสินเชื่อต่างๆ มักมีรูปแบบการชำระยอดค่าใช้จ่ายแตกต่างกันไปตามแต่ละสถาบันการเงินจะกำหนด แต่ 2 รูปแบบที่เรามักเห็นกันบ่อยๆ คือ การชำระแบบเต็มจำนวน และการชำระแบบขั้นต่ำ สำหรับมือใหม่หัดใช้บัตรเครดิต บัตรสินเชื่อ หรือเป็นมือเก๋าที่ยังสงสัยว่าการชำระขั้นต่ำแล้ว จะส่งผลอย่างไร มีผลกระทบต่อเครดิตบูโรหรือไม่ ในเมื่อเจ้าของบัตรให้จ่ายขั้นต่ำได้ แล้วทำไมหลายคนถึงบอกว่าไม่ควรจ่ายแค่ขั้นต่ำ ถ้าอย่างนั้นเรามาคลายความสงสัยไปพร้อมๆ กันเลย
การทำงานของบัตรเครดิต
ก่อนไปถึงเรื่องของการชำระคืน เรามาทำความเข้าใจการทำงานของบัตรเครดิตโดยพื้นฐานกันสักหน่อย
การทำงานของบัตรเครดิต จะเป็นการใช้เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการ โดยที่เรายังไม่ต้องจ่ายเงินในทันที เพราะสถาบันการเงินเจ้าของบัตรได้เป็นผู้ทำรายการจ่ายเงินให้กับร้านค้าแทนเราไปก่อนแล้ว จึงดูเหมือนเราได้เป็นหนี้บัตรเครดิตทุกครั้งที่ใช้จ่าย แต่หนี้นี้จะมีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยซึ่งหากยังไม่พ้นระยะเวลาที่แต่ละสถาบันการเงินกำหนด ดอกเบี้ยก็จะยังไม่ถูกคำนวณ นอกจากนี้หนี้บัตรเครดิตยังเป็นหนี้ที่ได้รับสิทธิประโยชน์อื่นๆ ตามรายการส่งเสริมการขายของบัตรเครดิตนั้นๆ อีกด้วย เช่น
- รับคะแนนสะสมเพื่อแลกของรางวัล
- รับส่วนลดจากร้านค้า
- รับโปรโมชั่นกดเงินสดดอกเบี้ย 0%
- สามารถผ่อนชำระสินค้าดอกเบี้ย 0%
- ได้รับเงินคืนจากการใช้จ่าย (cash back)
- สิทธิพิเศษที่จอดรถ
- สิทธิพิเศษห้องรับรองตามสถานที่ต่าง ๆ
- ความคุ้มครองเมื่อเดินทางไปต่างประเทศ
ซึ่งสิทธิประโยชน์เหล่านี้ จะขึ้นอยู่กับร้านค้าต่างๆ ที่ร่วมรายการกับบัตรเครดิตของแต่ละสถาบันการเงินนั้นๆ
จ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำดีหรือไม่
อย่างที่เรารู้กันดีว่าการจ่ายบัตรเครดิต หรือบัตรสินเชื่อนั้นมีรูปแบบการชำระให้เลือก คือจ่ายเต็ม หรือจ่ายขั้นต่ำ ซึ่งการจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงจ่ายขั้นต่ำเท่าที่เราจ่ายได้นะ แต่เป็นขั้นต่ำที่ทางสถาบันการเงินผู้ออกบัตรกำหนดเอาไว้ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่สามารถหาเงินมาจ่ายได้เต็มจำนวน เพื่อรักษาสถานะทางการเงินให้เป็น “ปกติ” ไม่เสียประวัติการชำระเงิน ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลว่าจะเสียประวัติเมื่อชำระขั้นต่ำ
การจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำ ดูเหมือนจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนด้วยการทยอยผ่อนจ่ายให้กับสถาบันการเงินเจ้าของบัตรไปเรื่อยๆ แต่จริงๆ แล้วนั้นไม่ใช่เลย… เพราะการจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำ คือการชำระเงินไม่ครบตามจำนวนภายในวันกำหนดชำระ ทำให้การคิดดอกเบี้ยจะต่างออกจากเดิม เป็นไปตามที่แต่ละสถาบันการเงินนั้นกำหนด
ผลลัพธ์ของการชำระขั้นต่ำ
แต่ละธนาคาร และสถาบันการเงินเจ้าของบัตรจะมีการกำหนดเปอร์เซ็นต์การชำระขั้นต่ำเอาไว้ เช่น 3%, 5%, หรือ 10% ของยอดค่าใช้จ่ายในรอบบิลเดือนนั้นๆ รวมถึงกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกันออกไป อีกทั้งผลลัพธ์ของการจ่ายขั้นต่ำอาจทำให้ถูกยกเลิกระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย และถูกคิดดอกเบี้ยบัตรเครดิตเป็นรายวันสำหรับการใช้จ่ายในแต่ละรายการได้ โดยจะคำนวณดอกเบี้ยจากเงินต้นคงเหลือเป็นรายวันไปจนกว่าจะครบรอบบิลอีกครั้ง หรืออธิบายง่ายๆ คือ การคิดดอกเบี้ยบัตรเครดิตจะมี 2 ขั้น หากคุณจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำ
ขั้นที่ 1 คิดอัตราดอกเบี้ยจากรายการที่เกิดขึ้นทั้งหมด คำนวณโดยใช้สูตร
จำนวนเงินต้นของสินค้าที่ค้างชำระ x อัตราดอกเบี้ยต่อปี x จำนวนวันที่ค้างชำระ ÷ 365 = จำนวนดอกเบี้ยในขั้นที่ 1
ขั้นที่ 2 คิดอัตราดอกเบี้ยจากเงินคงเหลือหลังจากที่ทำการจ่ายขั้นที่ 1 ไปแล้ว คำนวณโดยใช้สูตร
(จำนวนเงินต้นของสินค้าที่ต้องชำระ – จำนวนเงินขั้นต่ำที่ชำระไปแล้ว) x อัตราดอกเบี้ยต่อปี x จำนวนวันที่ค้างชำระ ÷ 365 = จำนวนดอกเบี้ยในขั้นที่ 2
เมื่อนำดอกเบี้ยขั้นที่ 1 + ดอกเบี้ยขั้นที่ 2 จะกลายเป็นจำนวนดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายเพิ่ม ซึ่งหากมีการชำระขั้นต่ำไปเรื่อยๆ ในทุกรอบบิล และดอกเบี้ยรายวันก็จะถูกคิดไปเรื่อยๆ ซึ่งหากมีการใช้จ่ายเพิ่ม ยอดค่าใช้จ่ายก็จะถูกคำนวณทบเข้าไปอีกจากยอดที่ต้องชำระเดิม แค่อ่านถึงตรงนี้ก็หนาวแล้วใช่ไหม แต่ถ้าหากได้รูดบัตรเครดิตไปแล้ว เมื่อถึงรอบชำระเกิดขาดสภาพคล่องทางการเงินขึ้นมา ทำให้ไม่สามารถชำระเต็มจำนวนได้ ยังมีบัตรกดเงินสดที่เป็นบัตรสินเชื่ออีกชนิดหนึ่งที่สามารถช่วยเสริมสภาพคล่อง ให้คุณสามารถนำเงินสดไปชำระได้เต็มจำนวน เพื่อตัดวงจรดอกเบี้ยบัตรเครดิตทบต้นที่อาจบานไม่รู้โรยจนเกินความสามารถในการชำระคืนเต็มจำนวนได้เช่นกัน สมัครบัตรกดเงินสดยูเมะพลัส
เทคนิคใช้บัตรเครดิตหรือบัตรสินเชื่ออย่างไรให้คุ้มค่า
1. กำหนดจำนวนเงินที่ต้องการใช้ในแต่ละเดือน เพื่อคุมยอดค่าใช้จ่าย
2. ใช้บัตรฯ เมื่อสามารถชำระคืนได้เต็มจำนวน เพื่อหลีกเลี่ยงดอกเบี้ย
3. ใช้ชำระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต้องจ่ายประจำทุกๆ เดือน เพื่อรับสิทธิประโยชน์ที่พ่วงมากับบัตรเครดิตหรือบัตรสินเชื่อ อาทิ
3.1 เครดิตเงินคืนเข้าบัญชี เป็นส่วนลดจากค่าใช้จ่ายประจำ
3.2 สะสมแต้มจากบัตรเครดิต สามารถนำไปแลกรับของกำนัลจากธนาคารหรือสถาบันการเงินเจ้าของบัตร แลกเป็นส่วนลดร้านค้า หรือส่วนลดบริการต่างๆ
3.3 สะสมไมล์แลกตั๋วเครื่องบินสำหรับผู้ที่ต้องเดินทางบ่อยๆ
3.4 สิทธิ์ในการใช้ห้องรับรองสนามบิน และบริการรถรับ-ส่ง รวมไปถึงประกันการเดินทางต่างๆ
3.5 ผ่อนสินค้าดอกเบี้ย 0% กับร้านค้าที่ร่วมรายการ ฯลฯ
ซึ่งสิทธิประโยชน์เหล่านี้ธนาคารหรือสถาบันการเงินและร้านค้าที่ร่วมรายการจะกำหนดเอาไว้แตกต่างกัน ก่อนสมัครอย่าลืมศึกษาและเลือกบัตรที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง เพื่อรับสิทธิประโยชน์จากบัตรเครดิตหรือบัตรสินเชื่อให้สูงที่สุด