หนี้นอกระบบ เคลียร์ให้จบได้อย่างไรบ้าง
ต้องยอมรับว่าการเป็นหนี้ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะหนี้ที่ก่อบางประเภทก็ยืมมาใช้ก่อนแล้วต่อยอดประโยชน์ให้งอกเงยภายหลังหรือให้ผลตอบแทนระยะยาวได้ ถึงอย่างนั้น การเป็นหนี้บางประเภทอย่าง ‘หนี้นอกระบบ’ ก็ดูเป็นเรื่องสุดวิสัย เพราะอาจเกิดจากการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจไม่แน่นอนเช่นนี้
สิ่งที่ต้องคิดตามมาหลังจากกู้เงินนอกระบบแล้วนั้น คงหนีไม่พ้นเรื่องการบริหารจัดการหนี้ให้ปิดได้ตามกำหนด เพราะเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นหนี้นอกระบบ อาจต้องเจอกระบวนการชำระหนี้ที่แตกต่างจากการเป็นหนี้ในระบบพอสมควร ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก หากบริหารจัดการเป็น สามารถปิดหนี้นอกระบบได้ตามกำหนด ก็จะไม่ต้องแบกรับภาระมากเกินไป ลองมาดูกันว่า หากคิดจะกู้เงินนอกระบบต้องรู้เรื่องอะไรก่อน แล้วถ้ากู้จนกลายเป็นหนี้แล้ว จะจัดการเคลียร์หนี้นอกระบบได้อย่างไรบ้าง
เรื่องต้องรู้ เมื่อเป็นหนี้นอกระบบ
ความแตกต่างระหว่างหนี้นอกระบบกับหนี้ในระบบ
ความแตกต่างระหว่าง ‘หนี้นอกระบบ’ กับ ‘หนี้ในระบบ’ มีตั้งแต่ลักษณะของการให้กู้ยืมเงิน การทำสัญญา ไปจนถึงความปลอดภัยและความคุ้มครองทางกฎหมายแก่ผู้ยืม
โดยทั่วไปแล้ว หนี้นอกระบบจะเป็นกิจการดำเนินโดยบุคคลทั่วไป ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย เรียกง่ายๆ คือจัดเป็นธุรกิจผิดกฎหมาย ส่วนอัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมนียม และเงื่อนไขสัญญา ก็ไม่ได้กำหนดชัดเจน นั่นหมายความว่าตัวเจ้าหนี้อาจจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยได้สูงกว่าที่กฎหมายระบุไว้เมื่อเทียบกับหนี้ในระบบ อันนำมาสู่เรื่องความปลอดภัยเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัวและความคุ้มครองทางกฎหมายของผู้ยืม
ส่วนหนี้ในระบบดำเนินกิจการโดยสถาบันการเงิน ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยและมีกฎหมายคุ้มครอง นี่เองที่ทำให้หนี้ในระบบมีวิธีคำนวณอัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมในการใช้วงเงิน และเงื่อนไขสัญญาชัดเจน ผู้ยืมจึงมั่นใจเรื่องสวัสดิภาพที่จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย รวมทั้งรักษาข้อมูลส่วนตัว
วิธีเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ย
อีกเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจเป็นอย่างมากก่อนคิดกู้เงินนอกระบบ ก็คือ ‘ดอกเบี้ย’ หากเราทำเรื่องกู้เงินจากสถาบันการเงิน เช่น บัตรกดเงินสด จะมีการคิดอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกไม่เกิน 25% ต่อปี
ในขณะเดียวกัน อัตราดอกเบี้ยของหนี้นอกระบบไม่ได้มีการกำหนดชัดเจน และมักสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยจากการกู้กับสถาบันการเงิน ถึงอย่างนั้น หลายคนอาจเคยได้ยินโฆษณาชวนเชื่อจากบริการให้กู้เงินนอกระบบที่ชวนให้เข้าใจผิด อย่างการบอกว่าปล่อยกู้ดอกเบี้ย 3% หรือ 5% ซึ่งฟังดูเป็นตัวเลขที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ย 25% ของหนี้ในระบบ ทั้งที่จริงแล้ว ดอกเบี้ย 3% หรือ 5% ที่ว่าเป็นการคิดดอกเบี้ยแบบรายวัน ไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยรายปี เมื่อรวมดอกเบี้ยเหล่านี้ก็จะตกเดือนละ 20-30% จึงไม่แปลกเลยที่ผู้ยืมจะติดกับดักหนี้นอกระบบ ใช้หนี้เท่าไหร่ก็ปิดไม่ได้เสียที
แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีทางปิดหนี้เสียทีเดียว หากคุณกำลังเผชิญกับการเป็นหนี้นอกระบบ และต้องการจบปัญหานี้ให้ได้เร็วที่สุด ลองทำตามแนวทางที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้
หนี้นอกระบบ เคลียร์ให้จบได้อย่างไร
1. รวมหนี้เป็นก้อนเดียว
การรวมหนี้เป็นก้อนเดียวจะช่วยให้ปิดหนี้ที่มีอยู่ได้เร็ว แถมยังไม่ต้องเร่งหาเงินหรือใช้เงินตัวเองมาโปะหนี้ก่อน โดยเริ่มแจกแจงหนี้แต่ละก้อนออกมา เพื่อให้เห็นว่าหนี้แต่ละเจ้านั้นมียอดเงินต้นและดอกเบี้ยเท่าไหร่ แล้วแต่ละรายมีระยะเวลาเร่งด่วนในการจ่ายคืนมากน้อยแค่ไหน จากนั้นจึงจัดการรวมหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงเข้าไว้เป็นก้อนเดียวกัน เพื่อทำเรื่องยื่นขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน
ทั้งนี้ สถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อก็มีหลากหลาย ทั้งสถาบันการเงินของรัฐหรือสถาบันการเงินของเอกชย ที่มีทั้งสินเชื่อส่วนบุคคลแบบที่มีและไม่มีหลักประกันให้เลือกยื่นเรื่อง หรือการสมัคร สินเชื่อบัตรกดเงินสดในการเบิกถอนเงินก้อน เพื่อนำมาปิดบัญชีเงินกู้นอกระบบทั้งหลาย ก็นับว่าเป็นการรวมหนี้ให้อยู่ในระบบ และรวมเป็นก้อนเดียวได้เช่นกัน สมัครบัตรกดเงินสดยูเมะพลัส
เมื่อยื่นขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินผ่านแล้วนั้น คราวนี้ก็นำเงินก้อนที่ได้มาปิดหนี้นอกระบบก่อน แล้วค่อยเลือกผ่อนชำระหนี้ในระบบกับสถาบันการเงินแทน ข้อดีของวิธีนี้คือตัดภาระหนี้นอกระบบไปได้ทันที แทนที่จะชำระหนี้คืนด้วยดอกเบี้ยแพง การเป็นหนี้ในระบบจะช่วยแบ่งเบาส่วนนี้ได้ รวมทั้งไม่ต้องกังวลเรื่องการถูกเอาเปรียบทางเงื่อนไขสัญญา และมีโอกาสเจรจาประนอมหนี้ได้ง่ายกว่าในกรณีที่หาจ่ายไม่ทันกำหนด
2. จัดสรรเงินมาโปะหนี้
หากประเมินความเร่งด่วนของหนี้แต่ละรายการ แล้วเห็นว่ายังพอจัดสรรเงินมาชำระคืนได้สม่ำเสมอแล้วนั้น อาจเลือกวิธีจัดสรรเงินมาใช้โปะหนี้ตามสมควร ไม่ว่าจะเป็นการลดรายจ่ายไม่จำเป็นออกไป หารายได้เสริมจากงานพิเศษต่างๆ รวมทั้งดูว่ามีสินทรัพย์ในครอบครองอะไรบ้างที่น่าจะนำไปต่อยอดมูลค่าเป็นเงินก้อนออกมาได้
นอกจากนี้ การวางแผนชำระหนี้อย่างเป็นแบบแผนอาจช่วยให้เราเคลียร์หนี้นอกระบบได้ง่ายขึ้น โดยพิจารณาว่าหนี้เจ้าใดที่มีดอกเบี้ยสูงและใช้เวลาผ่อนน้อย ก็เลือกโปะเงินปิดหนี้ก้อนนั้นก่อนได้ทันที
3. หาคนกลางช่วยเจรจาประนอมหนี้
แม้ว่าการประนอมหนี้กรณีกู้เงินนอกระบบจะทำได้ยาก แต่ใช่ว่าจะทำไม่ได้เสียทีเดียว สิ่งสำคัญที่สุดคือหาคนกลางมาช่วยเจรจาต่อรองให้ผ่านไปได้ด้วยดี ทั้งนี้ หากอ้างอิงตามคู่มือแนวทางการไกล่เกลี่ย “ประนอมหนี้” นอกระบบ ของสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) สำนักงานอัยการสูงสุด ได้กล่าวถึงแนวทางประนอมหนี้นอกระบบว่าด้วยการเป็นตัวกลางของคณะอนุกรรมการฯ มาช่วยเจรจา ซึ่งติดต่อไปได้ทางหมายเลข 1157
นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นหนี้นอกระบบและต้องการประนอมหนี้ ยังติดต่อไปยังหน่วยงานต่อไปนี้ เพื่อขอคำปรึกษาและร้องเรียนปัญหาหนี้นอกระบบได้ ดังนี้
● ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลังกระทรวงการคลัง โทร 1359
● ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด และศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ กระทรวงมหาดไทย โทร 1567
● ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม โทร 025753344
4. สร้างวินัยไม่ก่อหนี้เพิ่ม
นอกจากหาแหล่งเงินมาปิดหนี้นอกระบบให้เร็วที่สุด การวางแผนผ่อนชำระตรงเวลาและสม่ำเสมอ รวมทั้งขอเจรจาประนอมหนี้แล้วนั้น สิ่งสำคัญอีกอย่างที่คนมีภาระหนี้สินพึงทำ คือสร้างวินัยทางการเงิน เพื่อป้องกันการก่อหนี้เพิ่มขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว ซึ่งทำได้หลากหลายวิธี อาจเริ่มจากการสำรวจรายจ่ายและตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป เก็บเงินส่วนที่เหลือไว้สำรองในอนาคต รวมทั้งไม่ก่อหนี้ทั้งจากการเป็นหนี้นอกระบบหรือหนี้ในระบบโดยไม่จำเป็น