เครดิตบูโร (Credit Bureau) เป็นสำนักงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายการเงิน และสินเชื่อ ที่มีหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการใช้เงินของเรา และนำข้อมูลเหล่านี้มาสรุปให้สถาบันการเงินที่จะปล่อยสินเชื่อให้กับเราใช้ประเมินความเสี่ยงในการให้สินเชื่อ หรือส่งเสริมกระบวนการตัดสินใจในการอนุมัติการให้สินเชื่อกับเรา โดยข้อมูลที่ถูกเก็บรวบรวมอาจจะประกอบด้วย
o ประวัติการชำระเงินของสินเชื่อต่าง ๆ เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ
o ประวัติการชำระเงินของ ประวัติการเปิดบัญชีเงินฝาก และการใช้งานบัญชี
o ประวัติสินเชื่อที่ค้างชำระหรือหมดอายุ

ข้อมูลของเครดิตบูโรนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ทั้งสำหรับบุคคลที่ต้องการขอสินเชื่อ และสถาบันการเงินที่พิจารณาปล่อยสินเชื่อให้กับเรา เพราะเครดิตบูโรจะเป็นตัวกำหนดทิศทางการขอสินเชื่อ ส่งผลว่าเราจะผ่านการอนุมัติจากสถาบันการเงินหรือไม่ และถ้าหากผ่าน ดอกเบี้ยในการขอสินเชื่อจะสูงมากน้อยเท่าไหร่ ก็ขึ้นอยู่กับเครดิตบูโรของเราด้วยเช่นกัน

ข้อมูลเครดิตบูโรจะถูกบันทึกแบบไหน และอะไรไม่นับเป็นข้อมูลของเครดิตบูโร
อีกหนึ่งคำถามที่หลายคนสงสัยและต้องการคำตอบ คือ “เครดิตบูโรนั้นมีการบันทึกอย่างไรบ้าง” หรือ “มีอะไรบ้างที่ถือเป็นข้อมูลเครดิตบูโร” บอกเลยว่าเครดิตบูโรนั้นไม่ได้ซับซ้อนอย่างที่คิด เพราะโดยทั่วไปแล้วข้อมูลเครดิตบูโรจะแสดงย้อนหลัง 3 ปี หากมีข้อมูลใหม่ เข้ามาก็จะทบข้อมูลชุดเก่าไปเรื่อย ๆ และสถาบันทางการเงินแต่ละแห่งก็จะมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาแตกต่างกันไป บางแห่งอาจดูย้อนหลังเพียง 6 เดือน 9 เดือน หรือ 12 เดือน เท่านั้น และถ้าหากเราค้างชำระเป็นเวลาที่แตกต่างกันไป ทางเครดิตบูโรก็จะกำกับสถานะเราซึ่งสถานะเหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดที่สถาบันการเงินใช้ในการพิจารณาการกู้เงินของเรา ดังนี้
o ค้างชำระไม่เกิน 30 วัน ระบุสถานะเป็น 0
o ค้างชำระเกินกว่า 30 วัน ระบุสถานะเป็น 1
o ค้างชำระ 271 - 300 วัน ระบุสถานะเป็น 9
o ค้างชำระเกินกว่า 300 วัน ระบุสถานะเป็น F
เครดิตบูโรนั้นจะแสดงเพียงหนี้สินที่เราไปกู้ยืมมาจากสถาบันการเงินเท่านั้น เช่น หนี้บัตรเครดิต สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ ฯลฯ โดยค่าใช้จ่ายส่วนอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงิน จะไม่รวมอยู่กับรายงานเครดิตบูโร เช่น บิลค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต หรือที่เราเรียกกันว่า “ค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค” จะไม่รวมกับเครดิตบูโรนั่นเอง
เพราะฉะนั้น หากใครต้องการทำเครดิตการเงินให้ดูดี ก็เพียงปรับการชำระหนี้ให้ตรงกำหนดชำระ มีวินัยในการชำระหนี้มากขึ้น ก็สามารถสร้างเครดิตการเงินที่ดีได้แล้ว

ติดแบล็กลิสต์ หรือติดเครดิตบูโร คืออะไร
หลายคนอาจเคยได้ยินว่าการขอสินเชื่อหรือบัตรเครดิต บางครั้งอาจพบว่าคำขอของเราถูกปฏิเสธหรือไม่ได้รับการอนุมัติ และหนึ่งในเหตุผลที่เกิดขึ้น คือการติดแบล็กลิสต์หรือติดเครดิตบูโร ซึ่งเป็นคำนี้ความหมายของมันคืออะไร มาทำความรู้จักเพื่อให้เราสามารถรับมือและแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม
ติดแบล็กลิสต์หรือติดเครดิตบูโร ในความเป็นจริงแล้วคำนี้ ไม่มีในเครดิตบูโร เพราะเครดิตบูโรนั้น คือ บริษัทที่จัดเก็บข้อมูลสินเชื่อเท่านั้น เพียงแต่ว่าคำนี้เกิดจากการประเมินจากสถาบันทางการเงิน ที่พิจารณาเครดิตการเงินของเราว่าผ่านตามเกณฑ์ที่พิจารณาหรือไม่ หากคะแนนเครดิตที่เรานำเสนอไปข้างต้นนั้น อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่สามารถขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ ทางสถาบันการเงินก็มีสิทธ์ที่จะไม่ปล่อยสินเชื่อให้ เพราะความสามารถในการชำระหนี้ของเราอยู่ในเกณฑ์ไม่เพียงพอ และข้อสงสัยอีกข้อที่หลายคนมักเข้าใจผิดว่าทำให้ติดเครดิตบูโรคือ “การชำระสินเชื่อขั้นต่ำ” ซึ่งความเป็นจริงนั้น การชำระสินเชื่อขั้นต่ำสถานะเครดิตบูโรของเราจะขึ้นว่า สถานะปกติ เพราะสิ่งนี้จะถือว่าเป็นไปตามข้อตกลงของเราและสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อ

เครดิตการเงินดี มีชัยทุกทาง!
จากที่อ่านไปข้างต้น จะเห็นว่าการเข้าใจเรื่องเครดิตบูโรนั้นจะช่วยให้เรามีเครดิตการเงินที่ดี ซึ่งเรื่องนี้มีความสำคัญอย่างมาก เช่น
1. การขอสินเชื่อง่ายขึ้น: การรักษาประวัติเครดิตการเงินที่ดีทำให้มีโอกาสขอสินเชื่อและกู้ยืมเงินได้ง่ายขึ้น สถาบันการเงินจะเชื่อในความสามารถการชำระหนี้ของเรา และยังมีโอกาสที่จะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำอีกด้วย
2. สิทธิประโยชน์จากสถาบันการเงิน: เมื่อประวัติเครดิตการเงินของเราดี ทางสถาบันการเงินก็จะมอบสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ทางบริษัทมี เพราะมีความเชื่อมั่นว่าเราจะสร้างหนี้ดีมากกว่าหนี้เสีย
3. มีการวางแผนการเงินที่มั่นคง: เมื่อเราไม่มีความเครียด ในเรื่องของเครดิตบูโร ว่ามีประวัติที่เสียรึเปล่า สถาบันการเงินมีความไว้ใจในการปล่อยสินเชื่อให้กับเรา เราก็จะสามารถสร้างแผนการชำระหนี้ กู้ยืมเงิน หรือสะสมเงินสำรองให้กับอนาคตได้อย่างมีความสุข และมีความมั่นใจ

วิธีการรักษาเครดิตการเงินของเราให้ดูดีตลอดไป
เราได้เห็นถึงประโยชน์ของการมีเครดิตการเงินที่ดีมาแล้วว่ามีอะไรบ้าง แต่จะทำอย่างไรให้เรามีเครดิตที่ดี ขอนำเสนอแนวทางเพื่อมาเป็นวิธีการรักษาเครดิตบูโรของเราให้ดูดี น่าเชื่อถือตามนี้
1. ตรวจสอบยอดชำระสินเชื่อเป็นประจำ: ตรวจสอบรายงานค่าชำระของสินเชื่ออย่างสม่ำเสมอ เพื่อข้อมูลที่ถูกต้อง และชำระได้ตรงตามเวลาที่กำหนด
2. ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น: อีกความหมายก็คือพยายามไม่สร้างหนี้สินที่ไม่จำเป็นจนทำให้รายจ่ายมากกว่ารายรับ หรือพยายามชำระหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงก่อน เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นอย่างค่าดอกเบี้ยออกไป
3. หลีกเลี่ยงการสมัครสินเชื่อหรือบัตรเครดิตที่ไม่จำเป็น: การสมัครสินเชื่อหรือบัตรเครดิตในจำนวนมาก อาจส่งผลกระทบต่อระดับความสามารถในการชำระหนี้ของเรา ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อเครดิตการเงินของเราได้

การรักษาเครดิตการเงินที่ดีเป็นสิ่งสำคัญ และวิธีที่ดีที่สุดคือการใช้บัตรเครดิตอย่างระมัดระวังและการจัดการเงินอย่างรอบคอบ เพราะจะทำให้เราสามารถประสบความสำเร็จในการมีเครดิตบูโรที่ดีได้อย่างมั่นใจ

*ดูเงื่อนไขได้ที่ www.umayplus.com, กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว