สำหรับใครที่อยากมีลูก นอกจากการเตรียมความพร้อมทางด้านร่างกายในการเลี้ยงลูก รวมไปถึงการมอบความรัก ความอบอุ่นให้กับลูกน้อยอย่างเต็มที่แล้ว คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “เงิน” คือส่วนสำคัญในการดูแลคุณภาพชีวิตลูกน้อยเช่นกัน โดยเฉพาะใครที่วางแผนอยากมีลูก หรือกำลังจะเป็นพ่อแม่มือใหม่ ยิ่งวางแผนทางการเงิน เตรียมความพร้อมล่วงหน้ามากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งช่วยสร้างรากฐานความมั่นคงในการเลี้ยงลูกได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น ดังนั้น เรามาเริ่มดูกันว่าสำหรับการวางแผนการเงิน พ่อแม่มือใหม่ที่ควรเตรียมความพร้อมไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ มีอะไรกันบ้าง
 
1.  สำรวจสถานะทางการเงินของตนเองและคู่ครองก่อนมีลูก
อันดับแรกเลยก่อนที่จะตัดสินใจมีลูก เราแนะนำให้สำรวจสถานะทางการเงินทั้งของตนเองและคู่ครองก่อน ไม่ว่าจะเป็นรายรับ รายจ่าย เงินสำรอง เพราะการมีลูกจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ก่อนลูกน้อยลืมตาดูโลก ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสุขภาพของคุณพ่อคุณแม่ก่อนมีลูก ค่าฝากครรภ์ ค่าคลอดลูก ค่าชุดคลุมท้อง ค่าอุปกรณ์เลี้ยงลูก ฯลฯ เพราะการมีลูก 1 คน ค่าใช้จ่ายในช่วงเวลา 20 ปี อยู่ที่ประมาณ 3 - 5 ล้านบาทต่อคนเลยทีเดียว
 
2. วางแผนทางการเงินระยะสั้น 3 ปี
เมื่อตัดสินใจแล้วว่าจะมีลูก เราแนะนำให้ออมเงินให้ลูกล่วงหน้าไว้อย่างน้อย 3 ปี โดยในช่วงระหว่างตั้งครรภ์จนถึงช่วง 3 ขวบแรก จะต้องเตรียมเงินโดยเฉลี่ยไว้ประมาณ 150,000 - 200,000 บาท/ปี ดังนั้นยิ่งเริ่มออมเงินก่อนตั้งครรภ์ได้เท่าไหร่ก็จะยิ่งดี เพราะเงินส่วนนี้จะเป็นเงินสำหรับค่าเลี้ยงดูลูกช่วง 1 - 3 ขวบแรก ไม่ว่าจะเป็นค่านม ค่าอาหาร ค่าข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวสำหรับเด็ก ค่าวัคซีน ค่าเรียนเสริมพัฒนาการ ค่าเข้าเรียนอนุบาล เป็นต้น ที่สำคัญเลยคือค่าพบแพทย์ เพราะยิ่งเด็กค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลยิ่งสูง  ซึ่งวิธีออมเงินและวิธีลงทุนต่อยอดหารายได้เสริมที่เราแนะนำให้เลือก คือควรเลือกแบบความเสี่ยงต่ำ เช่น การฝากเงินออมทรัพย์ ฝากเงินประจำ หารายได้เสริมจากการขายของออนไลน์ เป็นต้น 
 
3. วางแผนทางการเงินระยะกลาง
เมื่อลูกอยู่ในช่วงวัยทารกและวัยก่อนเข้าเรียน การจัดการการเงิน พ่อแม่มือใหม่ยิ่งต้องพร้อมมากขึ้น โดยช่วงนี้คุณพ่อ คุณแม่ควรวางแผนทางการเงินล่วงหน้าไว้สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการเรียนชั้นอนุบาล ไปจนถึงช่วงจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งแน่นอนว่าช่วงที่ลูกเข้าเรียนแล้วค่าใช้จ่ายจิปาถะต่างๆ ยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย เช่น ค่าเดินทางไปโรงเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเสื้อผ้า ค่าขนม ค่าทำกิจกรรมต่างๆ หากใครต้องการให้ลูกเรียนโรงเรียนเอกชน ก็ยิ่งต้องออมเงินและลงทุนเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้เมื่อลูกเริ่มโตขึ้น โอกาสในการเจ็บป่วยต่างๆ ก็ย่อมเกิดขึ้นได้บ่อย ซึ่งพ่อแม่ยิ่งต้องพร้อมในการจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับลูก ดังนั้น นอกจากการออมเงิน การลงทุนในกองทุนรวมระยะยาว ลงทุนในตราสารหนี้ต่างๆ หรือทำธุรกิจส่วนตัว หารายได้เสริม ที่ได้ผลตอบแทนอย่างน้อยๆ 3 - 5% ของเงินต้นแล้ว การวางแผนซื้อประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุต่างๆ เพื่อลูกก็สำคัญเช่นกัน 
 
4. วางแผนทางการเงินระยะยาว
เมื่อลูกอยู่ในช่วงเริ่มเข้าเรียนชั้นประถมศึกษา คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มวางแผนการเงินในระยะยาวสำหรับเป็นทุนการศึกษาในการเรียนชั้นมัธยมไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งการวางแผนการเงินระยะนี้ ควรเป็นการออมเงินและการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง หรือมีความเสี่ยงสูงบ้าง เพื่อจะได้รับผลตอบแทนเฉลี่ยที่สูงขึ้น อาจจะเป็นออมเงินในกองทุนรวมหุ้น ออมเงินในประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ การลงทุนหุ้นอสังหาริมทรัพย์ ลงทุนในทองคำ เป็นต้น
 
การวางแผนทางการเงินและการออมเงินให้ลูกเพื่อให้พร้อมสำหรับการดูแลลูกคือสิ่งสำคัญ แต่แน่นอนว่าต่อให้พร้อมเท่าไหร่ เหตุการณ์ไม่คาดคิด โดยเฉพาะปัญหาทางเศรษฐกิจย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ต้องรู้จักการวางแผนทางการเงิน เช่น มีบัตรกดเงินสดติดตัวไว้สักใบ เมื่อต้องการใช้เงินสดแบบเร่งด่วน รู้จักปรับเปลี่ยนแผนการเงินให้ยืดหยุ่น เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจด้วย